ภาวะผู้นำกับความเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่
การสร้างองค์กรสู่ความยิ่งใหญ่ (Great) เป็นกระบวนการที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่สิ่งที่จบสิ้นในตัวของมันเอง เมื่อใดก็ตามที่คิดว่าองค์กรของตัวเองยิ่งใหญ่แล้ว เมื่อนั้น ผลงานก็จะไม่ต่างจากเดิมหรืออาจขึ้น ๆ ลง ๆ ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องเปรียบเทียบความก้าวหน้ากับสถานะเดิมของตนเองอยู่ตลอดเวลา
ปฐมบทที่ยกมา คือ แนวคิดของ Jim Collins ในหนังสือขายดีชื่อ Good To Great ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2001 กูรูด้านการจัดการท่านนี้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล ซึ่งอาจสรุปด้วยภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ว่า ผู้บริหารขององค์กรที่จะมุ่งสู่ความยิ่งใหญ่ ต้องคิดก่อนว่า “จะเอาใคร” (มาทำงาน) แล้วค่อยมาดู “จะเอาอย่างไร” (กำหนดทิศทาง เป้าหมายและวิธีการทำงาน) ทีหลัง
โดย Jim Collins ค่อนข้างจะเชื่อว่าผลงานอันเป็นเลิศเกิดจากการที่องค์กรมีคนที่ถูกต้องเหมาะสม และผู้บริหารทุกระดับมีภาวะผู้นำอย่างแท้จริง ดังนั้น ฉบับนี้จึงขออธิบายแนวคิดเกี่ยวกับผลงานและระดับของผู้นำที่จะนำพาองค์กรก้าวกระโดดจากระดับ “แค่ดี” ไปสู่ระดับที่ “ยิ่งใหญ่” เพราะเชื่อว่า “แค่ดี…เท่านั้นยังไม่พอ”
ผลงาน 3 ระดับ
Jim Collins จำแนกผลผลิตหรือผลงานขององค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ไว้ 3 ระดับ กล่าวคือ…
ระดับที่ 1 คือ การส่งมอบผลงานที่เหนือคู่แข่ง (Deliver superior performance)
โดยในภาคเอกชน คำว่า ผลงานอาจจะวัดจากผลตอบแทนด้านการเงินและการที่บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนในภาครัฐหรือภาคสังคมนั้น ผลงานควรจะหมายถึง ผลลัพธ์และประสิทธิภาพในการส่งมอบหรือการทำงานให้บรรลุพันธกิจ
ระดับที่ 2 คือ การสร้างผลกระทบที่มีความแตกต่าง (Make a Distinctive Impact)
กล่าวคือ องค์กรสร้างผลงานที่สามารถตอบสนองความต้องการ จนทำให้ชุมชนหรือกลุ่มของผู้รับบริการรู้สึกว่าผลงานดังกล่าวมีความหมายต่อพวกเขาหรือรู้สึกถึงความแตกต่างว่า สิ่งที่ได้รับนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างตั้งใจจริง ดีกว่าได้รับจากองค์กรอื่น มีความเป็นเลิศ และไม่มีองค์กรไหนมาแทนได้หรือเปรียบเทียบได้
ระดับที่ 3 คือ การบรรลุความสำเร็จที่ยั่งยืน (Achieve Lasting Endurance)
ซึ่งหมายถึง การที่องค์กรประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นติดต่อกันเป็นเวลานาน ผลงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำคนใดคนหนึ่งในยุคใดยุคหนึ่ง หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับแนวคิด นวัตกรรมหรือวงจรการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเกิดปัญหาในจุดใดในช่วงเวลาหนึ่ง ก็จะสามารถปรับปรุงแก้ไขและกลับมามีความเข้มแข็งกว่าเดิมเสียอีก
องค์กรที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่มุ่งเน้นความสำเร็จที่ยั่งยืน และผู้บริหารที่จะสร้างองค์กรสู่ความยิ่งใหญ่และยั่งยืนได้ จะต้องเป็นผู้นำที่ Jim Collins เรียกว่า “ผู้นำระดับที่ 5 หรือ Level 5 Leadership” แต่ก่อนที่จะกระโดดไปทำความรู้จักกับผู้นำระดับนี้ จำเป็นต้องเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำในระดับอื่น ๆ ก่อน ดังนี้
ผู้นำ 5 ระดับ..
ผู้นำในองค์กรภาครัฐหรือองค์กรในภาคสังคมนั้นมีขีดความสามารถและอำนาจในการตัดสินใจในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้นำในองค์กรเอกชนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารงาน แต่การแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำอาจแตกต่างกันเนื่องจากโครงสร้างการบริหารและการตัดสินใจในภาครัฐ (Governance Structure) มีความซับซ้อนและกระจัดกระจาย ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ในมือของผู้บริหารสูงสุดอย่างภาคเอกชน Jim Collins จึงแบ่งทักษะการเป็นผู้นำออกเป็น 2 ประเภท คือ…
1. Executive Leadership
หมายถึง ผู้นำที่มีอำนาจเต็มที่หรืออำนาจกระจุกตัวอยู่ในมือ ทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผล
2. Legislative Leadership
หมายถึง ผู้นำซึ่งไม่สามารถใช้อำนาจที่ตนมีสำหรับการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ต้องอาศัยการโน้มน้าวจูงใจและการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ในการวิจัยเรื่องสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Jim Collins พบว่า ผู้นำมีขีดความสามารถ 5 ระดับ กล่าวคือ…
ระดับที่ 1 คือ ผู้ที่มีความสามารถสูง (Highly Capable Individual)
สามารถนำความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและพฤติกรรมที่ดีมาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีผลผลิตสูง
ระดับที่ 2 คือ ผู้ที่เน้นความสำเร็จของทีมงาน (Contributing Team Member)
คือ ผู้ที่ทุ่มเทขีดความสามารถของตนเองเพื่อให้เป้าหมายของทีมงานบรรลุผลและสามารถทำงานร่วมกับสมาชิกของทีมงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย คือ นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นคนเก่งแล้ว ยังใส่ใจต่อความสำเร็จของทีมงานด้วย
ระดับที่ 3 คือ ผู้จัดการที่มีขีดสมรรถนะ (Competent Manager)
คือ ผู้ที่มีขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากรและบุคลากรเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่กำหนด อย่างมีประสิทธิภาพและเดประสิทธิผล คือ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารที่ใส่ใจทั้งคนและความสำเร็จงาน
ระดับที่ 4 คือ ผู้นำที่มีประสิทธิผล (Effective Leader)
คือ ผู้ที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้คนในองค์กรเกิดความมุ่งมั่น ผูกพันและกัดไม่ปล่อยในการที่จะทำงานให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลงานยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ระดับที่ 5 คือ ผู้บริหารที่แท้จริง (Executive)
คือ ผู้ที่เน้นการสร้างความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และยั่งยืน ด้วยการผสานความเป็นมืออาชีพ (Professional Will) เข้ากับความอ่อนน้อมถ่อมตน (Personal Humility) ได้อย่างแนบเนียนเป็นเนื้อเดียว
Jim Collins กล่าวว่า ถ้าเป็นในภาคธุรกิจ โครงสร้างการบริหารและสายการบังคับบัญชามักจะชัดเจน ตรงไปตรงมา และผู้บริหารมีอำนาจเต็มที่ ดังนั้น การใช้อำนาจทางการบริหารกับการแสดงภาวะผู้นำจึงมักจะไปด้วยกัน แต่ในภาครัฐหรือในองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรนั้น Jim Collins เห็นว่า ผู้นำระดับที่ 5 มีความสำคัญยิ่ง เพราะการใช้อำนาจสั่งการอย่างเดียวนั้น อาจไม่ได้ผล
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ James MacGregor Burns ที่กล่าวว่า “การแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำเป็นคนละเรื่องกับการใช้อำนาจ” เพราะโครงสร้างการบริหารในภาครัฐมีระบบย่อยมากมายและคลุมเครือ อำนาจทางการบริหารกระจัดกระจาย ไม่ชัดเจน และมีการถ่วงดุลกันหลายฝ่าย การแสดงภาวะผู้นำในภาครัฐจึงยากกว่าในภาคเอกชน เพราะเกี่ยวข้องกับการทำให้คนยอมทำตามด้วยความเต็มใจมากกว่าการบังคับให้ทำตามระเบียบหรือการสั่งการอย่างผู้บริหารในภาคเอกชน…
ความเข้าใจเรื่องแนวทางสำหรับสร้างผลงานทั้ง 3 ระดับ และขีดความสามารถของผู้นำทั้ง 5 ระดับ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจขีดความสามารถในการเป็นผู้นำของผู้บริหารทั้งในภาครัฐและเอกชน เพราะองค์กรที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นั้นไม่ได้เกิดจากสถานการณ์พาไป แต่เกิดจากการเลือกหรือตั้งใจที่จะเป็นและความมีวินัย
ภาวะผู้นำที่เหมาะสมไม่ใช่หลักในการบริหารเท่านั้น แต่เป็นหลักในการสร้างองค์กรสู่ความยิ่งใหญ่ด้วย…
อ้างอิงจาก คุณสุรพงษ์ มาลี หนังสือ กระแสคน กระแสโลก สำนักงาน ก.พ